การเทรดหุ้นเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง และนักลงทุนยังต้องมีความรู้ความเข้าใจในปัจจัยประกอบหลายด้าน หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญคือ “สภาวะเศรษฐกิจ” ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น
การเทรดหุ้นเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง และนักลงทุนยังต้องมีความรู้ความเข้าใจในปัจจัยประกอบหลายด้าน หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญคือ “สภาวะเศรษฐกิจ” ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น เมื่อสภาวะเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นช่วงขาขึ้นหรือขาลง นักลงทุนต้องเตรียมตัวและปรับกลยุทธ์ให้เหมาะสม ซึ่งคุณสามารถเริ่มสำรวจผลกระทบของสภาวะเศรษฐกิจที่มีต่อการเทรดหุ้น และวิธีฝึกวิเคราะห์ผลกระทบเหล่านี้ให้แม่นยำ ได้จากข้อมูลของเราวันนี้
ในช่วงที่เศรษฐกิจขาขึ้น หรือช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต จะมีผลกระทบต่อหุ้นในเชิงบวก มักเป็นช่วงที่เทรดหุ้นง่ายกว่า ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น
1. รายได้ของบริษัทเพิ่มขึ้น เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น บริษัทต่าง ๆ มักจะมีผลประกอบการที่ดี มีกำไรเติบโต ส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านั้นเพิ่มขึ้น นักลงทุนเองก็มองว่าหุ้นมีศักยภาพ และน่าเข้าไปลงทุนมากขึ้น
2. ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ผู้บริโภคมักจะมีความมั่นใจในการใช้จ่ายเงินมากขึ้น ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ มียอดขายที่สูงขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นภาคการขายสินค้าหรือภาคบริการก็ตาม ทำให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
3. การลงทุนจากต่างชาติ เมื่อเศรษฐกิจในประเทศเติบโตสูง นักลงทุนจากต่างชาติมักจะเข้ามาลงทุนมากขึ้น ซึ่งทำให้มีเงินทุนไหลเข้าตลาดหุ้นมากขึ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นทั้งกระดาน
4. อัตราดอกเบี้ยต่ำ ในช่วงเศรษฐกิจขาขึ้น ธนาคารกลางมักจะรักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับต่ำ เพื่อกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่าย เมื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ นักลงทุนย่อมมองหาสินทรัพย์ที่มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงขึ้น และเลือกที่จะนำเงินทุนเข้ามาในตลาดหุ้นนั่นเอง
ในทางกลับกัน เมื่อเศรษฐกิจเป็นช่วงขาลง หรือเศรษฐกิจถดถอย ตลาดหุ้นมักจะเผชิญกับความท้าทายหลายประการ โดยภาพรวมแล้วราคาหุ้นต่าง ๆ มักจะปรับตัวเป็นขาลง และมักจะเกิดเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้น แต่ก็ยังมีโอกาสในการทำกำไรได้ หากมีการวิเคราะห์ที่แม่นยำ
1. รายได้ของบริษัทลดลง เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี บริษัทต่าง ๆ มักจะมียอดขายและกำไรที่ลดลง นักลงทุนจะมองว่าหุ้นของบริษัทเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงขึ้น และอาจแบ่งขายหุ้นเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาหุ้นนั้น ๆ ลดลงด้วย
2. ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง เมื่อเศรษฐกิจถดถอย ผู้บริโภคมักจะระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้ยอดขายของบริษัทลดลง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่ปัจจัย 4 ทำให้ราคาหุ้นลดลงตามมา
3. การถอนทุนจากต่างชาติ เมื่อเศรษฐกิจในประเทศใดถดถอย นักลงทุนจากต่างชาติมักจะถอนทุนออกไปเพื่อลงทุนในประเทศอื่น ๆ ที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่มากกว่า ซึ่งทำให้ตลาดหุ้นขาดเงินทุน และราคาหุ้นจะลดลงต่อเนื่อง
4. อัตราดอกเบี้ยสูง ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย ธนาคารกลางอาจปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเพื่อลดการใช้จ่ายและการลงทุน ซึ่งมักจะส่งผลไปยังสินทรัพย์กลุ่มตราสารหนี้ ที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น ทำให้เงินทุนจากตลาดหุ้นไหลออกไปยังสินทรัพย์เหล่านี้แทน
การวิเคราะห์ผลกระทบของเศรษฐกิจที่มีต่อตลาดหุ้น ต้องอาศัยความรู้และการฝึกฝนเป็นอย่างมาก ซึ่งจะไม่ได้เก่งได้ภายใน 1-2 วันอย่างแน่นอน และนี่คือขั้นตอนที่จะสามารถช่วยให้คุณฝึกวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำขึ้น
1. ศึกษาข้อมูลเศรษฐกิจ การติดตามข่าวสารและรายงานเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่จำเป็น เริ่มต้นจากการศึกษาเกี่ยวกับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น GDP, อัตราเงินเฟ้อ, อัตราการว่างงาน และอัตราดอกเบี้ย เป็นต้น
2. วิเคราะห์รายงานงบการเงินของบริษัท อ่านและวิเคราะห์รายงานงบการเงินของบริษัทที่คุณสนใจลงทุน ศึกษาว่าบริษัทมีรายได้และกำไรอย่างไรในสภาวะเศรษฐกิจต่าง ๆ ปัจจุบันและผลประกอบการย้อนหลังเป็นอย่างไรบ้าง เป็นต้น
3. ศึกษาตลาดหุ้นและแนวโน้มราคา การศึกษาการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา และดูแนวโน้มราคาในช่วงเศรษฐกิจต่าง ๆ จะช่วยให้คุณเข้าใจว่าตลาดมีปฏิกิริยาอย่างไรต่อสภาวะเศรษฐกิจ เพราะไม่ว่าสภาวะตลาดจะเป็นอย่างไร มักจะมีหุ้นให้เทรดได้กำไรซ่อนอยู่เสมอ
4. เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญ การเรียนรู้จากนักวิเคราะห์หรือผู้เชี่ยวชาญทางการเงินที่มีประสบการณ์ จะช่วยให้คุณเข้าใจวิธีการวิเคราะห์และมองภาพรวมได้ชัดเจนขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีช่องทางมากมายให้ศึกษาได้ ทั้งบทความ บทสรุป ข่าวออนไลน์ ฯลฯ
5. ทดลองใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ ใช้เครื่องมือการวิเคราะห์ทางเทคนิคและพื้นฐาน เช่น การวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis) เพื่อศึกษาการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น และการวิเคราะห์พื้นฐาน (Fundamental Analysis) เพื่อศึกษาความแข็งแกร่งของบริษัท จะทำให้การตัดสินใจแม่นยำมากขึ้น
6. ฝึกฝนการทำสมมติฐาน ลองทำสมมติฐานเกี่ยวกับผลกระทบของสภาวะเศรษฐกิจต่าง ๆ และดูว่าผลลัพธ์ตรงกับสภาวะจริงหรือไม่ การฝึกฝนอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้คุณพัฒนาทักษะการวิเคราะห์ได้ดีขึ้น แต่วิธีนี้ไม่ควรใช้เงินซื้อจริง ให้คุณเทรดเป็น “กระดาษ” ไปก่อน
แม้การเทรดหุ้นจะมีความเสี่ยงสูง นักลงทุนต้องมีความรู้และความเข้าใจมากพอสมควร แต่ในตลาดทุนนี้เต็มไปด้วยโอกาสทำกำไร ดังนั้นการเริ่มต้นด้วยความรู้ อย่างการศึกษาสภาวะเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของตลาดหุ้น จะช่วยให้นักลงทุนมีโอกาสประสบความสำเร็จสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช่วงเศรษฐกิจขาขึ้นหรือขาลงก็ตาม